ผู้ใช้:Ladda.c/กระบะทราย

จาก วิกิพจนานุกรม พจนานุกรมเสรี

มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี (Rambhai Barni Rajabhat University) มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี เป็นสถาบันอุดมศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่เลขที่ 41 หมู่ที่ 5 ตำบลท่าช้าง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี อยู่ห่างจากตัวเมืองจันทบุรี 6 กิโลเมตร บริเวณสามแยกเขาไร่ยา ด้านหนึ่งของมหาวิทยาลัยติดกับถนนรักศักดิ์ชมูล อีกด้านหนึ่งติดกับถนนสุขุมวิท มีเนื้อที่ 720 ไร่ 3 งาน

มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ประกาศจัดตั้งครั้งแรกในฐานะ “ วิทยาลัยครูจันทบุรี ” เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2515 บริเวณที่เป็นสวนบ้านแก้ว พระราชฐานส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินินาถในรัชกาลที่ 7 โดยพระองค์พระราชทานไห้กระทรวงศึกษาธิการ ตามที่กระทรวงได้ขอพระราชทานซื้อในราคา 18 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งเป็นวิทยาลัยครูจันทบุรี

วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2516 วิทยาลัยครูจันทบุรีได้รับพระราชทานตราศักดิเดชน์ ซึ่งเป็นตราประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นตราของวิทยาลัยและใช้ สีชมพู-เขียว เป็นสีของวิทยาลัย สีชมพู แสดงถึงความเมตตากรุณา สุภาพ อ่อนโยนและเป็นสีประจำวันอังคาร ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีและสีเขียว แสดงถึงความเจริญงอกงามซึ่งเป็นสีประจำวันพุธ ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

วิทยาลัยครูจันทบุรี เปิดสอนครั้งแรกในประกาศนียบัตรชั้นสูงใน พ.ศ. 2515 โดยใช้อาคารเรียนชั่วคราวบริเวณโรงเลี้ยงไก่ส่วนพระองค์เป็นห้องเรียน นักศึกษารุ่นแรกจึงเรียกกันติดปากว่า “รุ่นเล้าไก่”

ปี พ.ศ. 2518 ได้เปิดสอนระดับปริญญาตรี สาขาวิชาการศึกษาตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2528 จึงเปิดสอนสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และสาขาศิลปะศาสตร์เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยครูฉบับแก้ไข พ.ศ. 2527

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2528 วิทยาลัยครูจันทบุรีได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เป็นนามของวิทยาลัยว่า “วิทยาลัยรำไพพรรณี”

วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2533 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ได้พระราชทานคติธรรมประจำให้แก่วิทยาลัยรำไพพรรณี เป็นภาษาบาลีว่า “ปณฺฑิโต นิปุณํ สํวิเธติ” แปลว่า “บัณฑิตย่อมฉลาดจัดการ”

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานชื่อใหม่ไห้แก่วิทยาลัยครูทั่วประเทศตามที่กรมการฝึกหัดครูได้ขอพระราชทานคือ สถาบันราชภัฏ ต่อมากรมการฝึกหัดครูได้เสนอร่างพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฏรแล้วและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2538 จึงมีผลทำให้วิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีมีฐานะเป็น สถาบันราชภัฏรำไพพรรณี

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 สถาบันได้เปิดสอนนักศึกษาภาคพิเศษตามโครงการการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลากรประจำการ (กศ.บป.) ที่ศูนย์สถาบันราชภัฏรำไพพรรณี และต่อมาปี พ.ศ. 2537 จึงขยายศูนย์ให้การศึกษาสำหรับบุคลากรประจำการ (กศ.บป.) นอกสถาบันที่ศูนย์จังหวัดระยอง โดยความร่วมมือจากวิทยาลัยเทคนิคระยองและโรงเรียนระยองวิทยาคม และต่อมาปี พ.ศ. 2540 มีผู้สมัครเข้าเรียนที่ศูนย์ระยองเพิ่มขึ้นจึงย้ายศูนย์ให้การศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคระยองมาเปิดศูนย์แห่งใหม่ที่โรงเรียนเทคโนโลยี ทีพีไอ จังหวัดระยอง

ปี พ.ศ. 2542 สถาบันราชภัฏรำไพพรรณีเปิดสอนระดับบัณฑิตศึกษาครั้งแรกในภาคพิเศษ สาขาการบริหารการศึกษาใน พ.ศ. 2543 เปิดสอนสาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา และ พ.ศ. 2544 เปิดสอนสาขาหลักสูตรการสอน

ปี พ.ศ. 2544 สถาบันได้ปรับเปลี่ยนโครงการจัดการศึกษาภาคพิเศษทั้งหมดเป็น โครงการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน (กศ.ปช.) ตามประกาศของคณะกรรมการสภาสถาบันราชภัฏ ดังนั้นภายใต้โครงการ กศ.ปช. จึงประกอบด้วยสามโครงการย่อยคือ โครงการ กศ.บป. โครงการ กศ.อช. และโครงการบัณฑิตศึกษา

วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2547 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ ทำให้สถาบันราชภัฏรำไพพรรณีเปลี่ยนสถานะเป็น มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี