ผู้ใช้:หนังสือ ไทยรบพม่า

จาก วิกิพจนานุกรม พจนานุกรมเสรี


คำนำ

หนังสือพงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า ที่ตีพิมพ์ในสมุดนี้ มีเรื่องตำนานอันสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ทรงนิพนธ์ ได้ทรงอธิบายชี้แจงในฉบับซึ่งพิมพ์ในงานทำบุญฉลองอายุครบ ๖๐ ปี แห่งพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (มิ้น เลาหเศรษฐี) กับคุณหญิงเพิ่ม โชฎึกราชเศรษฐี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ดังต่อไปนี้

เรื่องตำนานของหนังสือพงศาวดารเรื่องไทยรบพม่านี้ เดิมพระไพรสณฑ์สาลารักษ์ (อองเทียน สุพินทุ) ได้สำเนาหนังสือพงศาวดารพม่าฉบับหลวงเรียกว่า ‘ เรื่องมหาราชวงศ์ฉบับหอแก้ว ’ มาจากเมืองพม่า ข้าพเจ้าขอให้พระไพรสณฑ์ฯ กับมองต่อแปลตรงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเทศสยามมาก่อน เห็นเป็นเรื่องสงครามกับไทยเป็นพื้น แต่ได้ความรู้เหตุรู้ผลตลอดจนรายการเพิ่มเติมขึ้นแปลกกับที่ปรากฏในหนังสือพงศาวดารไทยหลายแห่ง ข้าพเจ้าจึงลองเก็บเนื้อความเรื่องไทยรบกับพม่าอันปรากฏในหนังสือพงศาวดารทั้งสองฝ่าย เรียบเรียงพิมพ์เป็นประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖ ให้นายพลโท พระยาสีหราชฤทธิไกร (เล็ก ปาณิกบุตร) พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ ก็มีผู้ชอบอ่านกันมาก ครั้นต่อมาข้าพเจ้าได้พบหนังสือจดหมายเหตุของโบราณในประเทศนี้ และได้จดหมายเหตุฝรั่งเพิ่มเติมมาจากต่างประเทศอีกหลายเรื่องทราบเรื่องพงศาวดารตอนที่ไทยรบกับพม่าแปลออกไปอีกหลายทาง ที่เกี่ยวถึงการเมืองเป็นเรื่องสำคัญในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์นี้ก็มี ข้าพเจ้าคิดเห็นว่าเป็นเรื่องราวที่พบใหม่ไทยเรายังไม่รู้กันโดยมาก จึงได้รื้อ หนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖ ออกแต่งใหม่ให้ความบริบูรณ์โดยพิศดาร เรียกว่า ‘ พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า ’ แบ่งเป็น ๒ ตอน พระเจ้าพี่ยาเธอกรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธิน[1] ทรงรับตอนที่ ๑ อันว่าด้วยเรื่องไทยรบกับพม่าเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีไปพิมพ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์[2] ทรงรับตอนที่ ๒ อันว่าด้วยเรื่องไทยรบกับพม่าเมื่อครั้งกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ ไปพิมพ์ใน พ.ศ. ๒๔๖๓ ทั้ง ๒ เล่ม

ฉบับที่พิมพ์ใหม่ครั้งนี้ข้าพเจ้าแก้ชื่อให้เรียกว่า ‘ พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า ’ และให้นับเข้าในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖ แทนที่เรื่องเดิมซึ่งได้รื้อเสียเมื่อแต่งเรื่องนี้ขึ้นแทน ส่วนถ้อยคำสำนวนในหนังสือฉบับนี้ก็ได้ตรวจแก้ไขให้ดีขึ้นกว่าฉบับพิมพ์ครั้งแรก ด้วยเมื่อพิมพ์ครั้งนั้นพอแต่งแล้วก็รีบส่งไปพิมพ์เพื่อจะให้ทันงาน ไม่มีเวลาพอจะตรวจตรา ได้ถ้วนถี่

อนึ่งหนังสือเรื่องนี้ เมื่อพิมพ์ครั้งแรกข้าพเจ้าทราบว่าผู้ที่ชอบอ่านมักเป็นทหารมากกว่าพลเรือน บางที่จะเป็นเพราะพวกพลเรือนเห็นชื่อเรื่องก็เข้าใจเสียว่า เป็นหนังสือแสดงแต่การรบพุ่งอันเป็นประโยชน์ในทางความรู้ของผู้เป็นทหาร ข้าพเจ้าจึงขอแจ้งความให้ทราบในที่นี้ ว่าข้าพเจ้าตั้งใจแต่งหนังสือเรื่องนี้ให้เป็นประโยชน์ในทางความรู้พงศาวดารเป็นสำคัญ ในหนังสือเรื่องนี้มีคติทางการเมืองและฝ่ายพลเรือนอยู่แต่ต้นจนปลาย ใครอ่านถึงจะเป็นทหารหรือพลเรือนก็คงจะได้เรื่องความรู้พงศาวดารสยาม ซึ่งยังไม่ปรากฏในหนังสืออื่นมีอยู่อีกมาก

หนังสือพงศาวดารเรื่องไทยรบพม่านี้ ได้มีการพิมพ์หลายครั้ง และในครั้งนี้เมื่อสำนักพิมพ์บรรณาคารแจ้งความประสงค์จะขอพิมพ์ขึ้นใหม่มูลนิธิก็มีความยินดีให้พิมพ์ได้



มูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล
กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓

  1. ต่อมา ดำรงพระยศเป็น กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
  2. ต่อมา ดำรงพระยศเป็น กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์